ชาญี่ปุ่น
ในปัจจุบันความนิยมในชาญี่ปุ่นยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และโลกของชาญี่ปุ่นนั้นน่าค้นหายิ่งนัก ยิ่งรู้จักยิ่งหลงรัก วัฒนธรรมการดื่มชา ความเชื่อและความศรัทธาจะพาให้เราหลงใหลในวัฒนธรรมของการดื่มชาญี่ปุ่นมากขึ้น
วัฒนธรรมการดื่มชาในประเทศญี่ปุ่นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เสน่ของชาญี่ปุ่นอยู่ที่กลิ่นหอมละมุนและมีรสชาติดี กลิ่นหอมสดชื่นของเซนชะ กลิ่นหอมอันหรูหราของเกียวคุโระและกลิ่นหอมจากการคั่วอบใบชาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายของโฮจิชะ นอกจากนี้ในชาญี่ปุ่นยังอุดมไปด้วยสารแทนนิน(Tannin) สารคาเตชิน(Catechin) รวมไปถึงวิตามินหลากชนิด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาญี่ปุ่นเป็นชาที่ดีต่อสุขภาพ
งานชาโลก
งานชาโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี และครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 (7th World O-Cha (Tea) Festival 2019) ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นแล้วไม่มีอะไรที่ธรรมดาแน่นอน งานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2562 เป็นงานที่รวมกลุ่มผู้ประกอบการชาและผลิตภัณฑ์ชาจากผู้ประกอบการทั่วโลก จัดขึ้นที่เมืองชิซึโอกะ(Shizuoka) เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตชาติดอันดับต้นๆของโลกและยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญอื่นๆอีกมากมาย

สถานที่จัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นที่ Granship (Shizuoka Convention & Arts Center)
การเดินทางสะดวกมากทั้งโดยรถไฟและรถยนต์

การเดินทาง
รถไฟ
รถไฟชินคันเซนสาย Tokaido ใช้เวลา 1 ชั่วโมงจากโตเกียว หรือ 2 ชั่วโมงจากโอซาก้า ลงที่สถานีชิซึโอกะ แล้วเปลี่ยนไปขึ้นสาย Tokaido เพื่อไปลงที่สถานี Higashi-Shizuoka ทางออก South Exit เพียง 3 นาทีก็ถึงสถานที่จัดงาน
รถยนต์
ใช้เวลาเพียง 20 นาทีจาก Shizuoka Interchange(I.C.) ขึ้นทางด่วน Tomei และ 10 นาทีจาก Chiyoda-Agetsuchi Interchange(I.C.) บนทางด่วน Seishin
แผนที่จัดแสดงงานบน Google Map


TH-JP Alliance, World Tea party
การจัดแสดงชาไทยในครั้งนี้นำทีมโดยคุณ Nakakoji, Chamber of Tea Association of Shizuoka Pref. จากประเทศญี่ปุ่นและ ผศ.ดร.ปิยภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประกอบการชาจากประเทศไทยที่ร่วมกันผนึกกำลังเป็นตัวแทนจากประเทศไทยนำเสนอชาไทยหลากหลายชนิดให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง
เครือข่ายชาระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยนั้นได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมชา รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมชาของทั้งสองประเทศ




ในงานนี้ทีมงานจากประเทศไทยทุกคนมาพร้อมกับความปิติยินดีที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของชาไทยให้คนต่างชาติได้รู้จัก พร้อมกับการชิมชาจากประเทศไทย ขอบอกว่าชาจากประเทศไทยทุกประเภทที่เราได้นำมานั้นได้รับการชื่นชมและการต่อแถวเพื่อรอชิมชากันอย่างล้นหลาม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากชาได้แก่ สบู่ชา (Yuka Tea Series Soap) แบรนด์เชียยู [คลิก] ที่นำมาเปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรกก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ลูกค้าโดยไม่ได้ตั้งใจต้องขอขอบคุณทุกๆท่านที่มองเห็นความตั้งใจของทีมงานเชียยู และคอยผลักดันแบรนด์เชียยูเสมอมา


เรียกได้ว่างานที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นการจัดงานที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการชาในเมืองชิซึโอกะเป็นอย่างดี นอกจากพื้นที่จัดงานแสดงนี้แล้ว โรงงานผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชา ยังได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทีมงานได้มีโอกาสขับรถชมโรงงานอีกหลายโรงงานในพื้นที่ หากมีโอกาสจะมาบอกเล่าประสบการณ์ในตอนต่อไป



เคล็ด(ไม่)ลับกับการชงชา
อุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกัน ทำให้รสอร่อยของชาแตกต่างกันไป
องค์ประกอบที่ทำให้เกิดรสชาติในชาแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ คาเตชินที่ให้รสฝาด คาเฟอีนที่ให้รสขม และไทอะนีนที่ให้รสอูมามิ ปริมาณของสารทั้งสามชนิดนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ชงชา ยิ่งอุณหภูมิสูงยิ่งสกัดคาเตชินที่ให้รสฝาดและคาเฟอีนที่ให้รสขมได้มาก ส่วนไทอะนีนจะถูกสดัดออกมามากเมื่อชงเป็นเวลานาน
หากต้องการดื่มชาที่มีรสค่อนข้างฝาดหรืออยากดื่มชาแก้ง่วงก็ต้องชงชาด้วยน้ำอุณหภูมิสูงในระยะเวลาสั้น หากไม่ชอบดื่มชาที่ฝาดเกินไปก็ชงด้วยน้ำอุณหภูมิปานกลางเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้รสฝาดในชาลดลง
อุณหภูมิของน้ำมีผลต่อกลิ่นหอมของชาด้วยเช่นกัน หากต้องการเพิ่มกลิ่นหอมต้องชงด้วยน้ำอุณหภูมิสูงด้วยระยะเวลาอันสั้น
เพียงแค่รู้จักจุดเด่นของชาญี่ปุ่นก็จะสามารถค้นหาวิธีการชงในแบบที่ตัวเองชอบได้อย่างง่ายดายและเพลินเพลินกับชาญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่
ที่มา NPO The Japan Tea Instructor Association

ชานวดมือ ศิลปะการนวดใบชาด้วยมือแบบดั้งเดิม
การนำยอดอ่อนของใบชามานวดด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆทำให้แห้ง ใช้มือนวดใบชาแต่ละใบจนได้ชาเส้นเล็กเหมือนเข็ม จากนั้นเมื่อนำมาชงด้วยน้ำร้อนใบชาจะค่อยๆพองตัวจนกลายเป็นรูปร่างเดิม
ชานวดมือเมื่อดื่มเข้าไปแล้วรสอร่อยจะฟุ้งหระจายอยู่ในปาก บริเวณปลายลิ้นจะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่กลมกล่อม






งานชาโลกครั้งต่อไปคงต้องติดตามกันดูว่าจะมีอะไรที่ทำให้หัวใจเต้นแรงแบบนี้อีก หากเพื่อนๆท่านใดสนใจหรืออยากให้ทีมงานนำเสนอเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้เลยแอดยินดีรับไว้พิจารณาและสัญญาว่าจะนำสาระดีๆมาแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อๆไป โปรดติดตามกันด้วยน๊าาา